วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2560

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

เมื่อพ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้โปรดให้ยกกองทัพเรือมาตั้งค่ายที่ตำบลบางกุ้ง เรียกว่า ค่ายบางกุ้ง เนื่องจากเมืองแม่กลองเป็นเส้นทางที่กองทัพพม่าใช้ในการเดินทัพ โดยสร้างกำแพงล้อมวัดบางกุ้งให้อยู่กลางค่ายเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นที่เคารพบูชาของทหาร พระเจ้าตากสินมหาราชได้โปรดให้คนจีนจากระยอง ชลบุรี ราชบุรีและกาญจนบุรีรวบรวมผู้คนมาตั้งเป็นกองทหารรักษาค่าย ค่ายนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนี่งว่า ค่ายจีนบางกุ้ง พระองค์ทรงให้ชื่อทหารเหล่านี้ว่า ทหารภักดีอาสา ในปีพ.ศ.2311 พระเจ้ากรุงอังวะทรงยกทัพผ่านกาญจนบุรี มาล้อมค่ายจีนบางกุ้ง พระเจ้าตากสินมหาราชและพระมหามนตรี(บุญมา) ร่วมรบขับไล่กองทัพพม่าทำให้ข้าศึกแตกพ่าย นับเป็นค่ายทหารไทยที่สร้างความเกรงขามให้กองทัพพม่า สร้างขวัญกำลังใจให้คนไทยกลับคืนมา และเป็นสงครามครั้งแรกที่ไทยกับพม่าหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ค่ายบางกุ้งแห่งนี้ถูกปล่อยให้รกร้างเกือบ 200 ปี จนมาถึงปี พ.ศ. 2510 กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ตั้งเป็นค่ายลูกเสือขึ้น เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระเจ้าตากสินมหาราช และได้สร้างศาลพระเจ้าตากสินไว้เป็นอนุสรณ์   โดยทำพิธียกศาลเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2511


พงศาวดารบันทึกไว้ว่า เมื่อพระเจ้าตากสินทรงทราบข่าวพม่ายกทัพเข้ามาล้อมค่ายบางกุ้งจวนจะแตกอยู่แล้ว มีพระราชหฤทัยประดุจได้พระลาภอันอุดมกว่าลาภทั้งปวง เพราะสงครามครั้งนี้มีความสำคัญต่อการกู้ชาติไทย จะสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับสงครามครั้งแรกนี้ ค่ายบางกุ้งเป็นค่ายเก่าที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา หลังจากถูกพม่าตีแตกในคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ ก็ถูกทิ้งเป็นค่ายร้าง จนเมื่อพระเจ้าตากสินสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีใหม่ ได้ส่งบรรดาลูกเรือสำเภาจีนที่สละเรือมาจงรักภักดีไปเฝ้าไว้ ตั้งให้เป็นหน่วยทหาร ภักดีอาสาโดยมี ไต้ก๋งเจียมซึ่งได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น ออกหลวงเสนาสมุทรเป็นผู้บังคับบัญชาพงศาวดารกรุงธนบุรีกล่าวว่า “พระเจ้าตากสินทรงทราบข่าวข้าศึกด้วยความยินดียิ่ง ได้โปรดให้ พระมหามนตรี (บุญมา) จัดกองทัพเรือ ๒๐ ลำ แล้วพระองค์ก็ทรงเรือพระที่นั่งสุพรรณพิชัยนาวา เรือยาว ๑๘ วา ปากเรือกว้าง ๓ ศอกเศษ พลกรรเชียง ๒๘ คน พร้อมด้วยศาสตราวุธมายังค่ายบางกุ้ง โดยลัดเลาะมาทางคลองบางบอน ผ่านคลองสุนัขหอน และมาออกแม่น้ำแม่กลอง พระมหามนตรีคาดการณ์ว่าค่ายบางกุ้งล่อแหลมกำลังจะแตกอยู่แล้วจึงรีบเดินทัพ พอไปถึงก็เข้าโจมตีทัพพม่าที่กำลังล้อมค่ายไทย-จีนที่บางกุ้งโดยฉับพลัน” ในตอนเรียกประชุมนายทัพนายกองเพื่อปลุกใจก่อนเข้าโจมตีนั้น ทรงเน้นว่า ถ้าช้าไปอีกวันเดียวค่ายบางกุ้งจะแตก แล้วขวัญทหารไทยจะไม่มีวันฟื้นคืนดีได้ การรบทุกครั้งการแพ้ชนะอยู่ที่ขวัญกำลังใจ ถ้าไทยแพ้อีกในครั้งนี้ พม่าจะฮึกเหิม พวกไทยจะครั่นคร้ามและกู้ชาติไม่สำเร็จ การรักษาค่ายบางกุ้งไว้ให้ได้ในครั้งนี้ ได้ชื่อว่าท่านทั้งหลายได้ช่วยขวัญกำลังใจของไทยในการรบครั้งต่อไป
           ครั้นเผด็จศึกแล้ว พระเจ้าตากสินทรงพาทหารเข้าพักที่ค่ายบางกุ้ง ทรงประชุมเหล่าทหารหาญทั้งไทย-จีนให้มีความสามัคคีปรองดองเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีความรักกันฉันญาติมิตร ตอนหนึ่งในพระบรมราโชวาท ตรัสว่า เนื้อต่อเนื้อไม่เอื้อเฟื้อเป็นเนื้อกลางป่า เนื้อใช่เนื้อได้เอื้อเฟื้อเป็นเนื้ออาตมา
มีความหมายว่า คนที่เป็นญาติพี่น้องกัน ถ้ามิได้เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันก็เหมือนไม่ใช่ญาติ แต่คนที่มิใช่ญาติหากได้เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันก็เหมือนเป็นญาติสนิท
          สงครามที่ค่ายบางกุ้งนี้ นอกจากจะทำให้ขวัญกำลังใจของคนไทยที่สูญสิ้นไปกลับคืนมาแล้ว ยังทำให้ชุมนุมต่างๆที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ยามแผ่นดินว่างกษัตริย์ ได้หันมายอมรับกองกำลังกู้ชาติของพระเจ้าตากสิน รวมกันกลับมาสู่ความเป็นปึกแผ่นเข้มแข็งอีกครั้งหนึ่ง

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อพ.ศ. 2310  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้โปรดให้ยกกองทัพเรือมาตั้งค่ายที่ตำบลบางกุ้ง ...